มาตรการเร่งด่วน จ.กาญจนบุรี

13 มกราคม 2564
 ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง

จังหวัดกาญจนบุรีออกมาตรการเร่งด่วนให้ร้านอาหารเปิดบริการโดยจัดที่นั่งรับประทานอาหารได้ ระหว่างเวลา หกโมงเช้า ถึงเวลาสามทุ่ม หลังจากเวลาสามทุ่มให้จำหน่ายกลับบ้านเท่านั้น พร้อมห้ามบริโภคสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในร้านและให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคฯ
นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดกาญจนบุรีคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรีออกมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดกาญจนบุรีเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด พร้อมแนวทางปฏิบัติเพื่อที่จะดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน
จังหวัดกาญจนบุรี กำหนดมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ดังต่อไปนี้
1. ห้ามการใช้อาคารและสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยห้ามการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อจัดการเรียน การสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เว้นแต่กรณี ดังต่อไปนี้
1.1 เป็นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือวิธีอิเล็กทรอนิกส์
1.2 เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ หรือให้การอุปการะแก่บุคคล
1.3 เป็นการจัดกิจกรรมของทางราชการหรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี
1.4 เป็นโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียน ไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบคน หรือเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน หรือให้เป็นไปตามมาตรการที่หน่วยงาน ต้นสังกัดกำหนด
2. ห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย เช่น การประชุม สัมมนา การจัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของต่าง ๆ หากมีความจำเป็นต้องดำเนินการให้จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม ไม่เกิน 200 คน โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคฯ ดังนี้
มาตรการควบคุมหลัก
1.ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ ทั้งก่อน และหลังการให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน
2.ให้พนักงานบริการ ผู้ใช้บริการ ผู้เข้าร่วมประชุมสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลาการประชุม และการให้บริการ
3. ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
4. ให้เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ และระหว่างที่นั่ง รวมถึงระยะห่างระหว่างการเดินอย่างน้อย ๑.๕ เมตร และกรณีที่นั่งเต็มงดเสริมเก้าอี้หรือยืนร่วมประชุม
5. ให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการและผู้ร่วมประชุมมิให้แออัด ทั้งพื้นที่รอเข้างานจุดคัดกรอง ลงทะเบียน ประทับตราจอดรถ ประชาสัมพันธ์ บริการอาหาร และเครื่องดื่ม
6.ให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวทาง โทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ได้ตามความเหมาะสม หรือใช้มาตรการควบคุม ด้วยการบันทึกข้อมูล และรายงานในบางพื้นที่ได้
7. การกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ในแต่ละสถานที่ ให้มีผู้เข้าร่วมประชุมไม่เกิน 200 คน
8. งดให้มีการจัดงานเลี้ยงร่วมกับการจัดประชุม อบรมสัมมนา ทั้งนี้ รวมถึงการงดการพูดคุยเสียงดัง ในที่ประชุม
3. เงื่อนไขการเปิดดำเนินการ โดยให้สถานที่ กิจการ หรือการทำกิจกรรม ดังต่อไปนี้ เปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา และการจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ ที่กำหนด ดังนี้
3.1 ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรม สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงพยาบาล ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ รถเข็น หาบเร่ และแผงลอย ให้เปิดบริการโดยจัดที่นั่งรับประทานอาหารได้ ระหว่างเวลา 06.00 น. ถึงเวลา 21.00 น. หลังเวลา 21.00 น. ให้จำหน่ายเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น ห้ามบริโภคสุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคฯ ดังนี้
มาตรการควบคุมหลัก
1. ทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน
2. ให้ผู้ประกอบการ พนักงานบริการ ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า
3. ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
4. ให้เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ และระหว่างที่นั่ง รวมถึงระยะห่างระหว่างการเดิน อย่างน้อย ๑ เมตร
5. ให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการมิให้แออัด
6. ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายในสถานที่จำหน่ายอาหาร
3.2 ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคฯ ดังนี้
มาตรการควบคุมหลัก
1.ทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน
2.ให้ผู้ประกอบการ พนักงานบริการ ผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
3.ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
4. ให้เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกัน และเว้นระยะห่างในการเลือกสินค้าและชำระสินค้าอย่างน้อย ๑ เมตร
5. ให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการมิให้แออัดและรวมกลุ่มกัน หรือลดเวลาในการทำกิจกรรมเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัว ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ได้ตามความเหมาะสม หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานทดแทนได้
3.3 ร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดย่อม ร้านค้าปลีก/ค้าส่งชุมชน ตลาด ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคฯ ดังนี้
มาตรการควบคุมหลัก
1.ทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอย และขยะติดเชื้อให้ได้ตามมาตรฐาน
2. ให้ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า
3. ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
4. ให้เว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกัน และระยะห่างระหว่างแผงค้า และเว้นระยะห่างในการเลือกสินค้าและชำระสินค้าอย่างน้อย ๑ เมตร
5. ให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการมิให้แออัดและรวมกลุ่มกัน หรือลดเวลาในการทำกิจกรรมเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ได้ตามความเหมาะสม หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานทดแทนได้
3.4 ร้านเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผม สำหรับบุรุษหรือสตรี ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคฯ ดังนี้
มาตรการควบคุมหลัก
1.ทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน
2.ให้ผู้ประกอบการ พนักงานบริการ ผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า
3.ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
4.ให้เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะ และระหว่างที่นั่ง รวมถึงระยะห่างระหว่างการเดิน อย่างน้อย ๑ เมตร
5.ให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการมิให้แออัด
3.5 สนามกีฬา เฉพาะกีฬาประเภทกลางแจ้ง เช่น สนามกอล์ฟหรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ เทนนิส ขี่ม้า ยิงปืน ยิงธนู ต้องไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกันจำนวนมาก
มาตรการควบคุมหลัก
1.ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ ห้องอาบน้ำ ห้องสุขา ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน
2.ให้พนักงานบริการ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า
3.ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
4.จัดให้มีพนักงานดูแลความปลอดภัย ปฏิบัติงานขณะที่มีการใช้บริการ เพื่อให้คำแนะนำการใช้บริการ
5.ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการโดยจำกัดจำนวน ผู้ใช้บริการตามขนาดพื้นที่
6.ให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ได้ตามความเหมาะสม หรือใช้มาตรการควบคุม ด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานทดแทนได้
ในกรณีของสโมสร คลับเฮาส์ หรือร้านอาหารในบริเวณดังกล่าวให้เปิดบริการโดยจัดที่นั่งรับประทานอาหารได้ ระหว่างเวลา 06.00 น. ถึงเวลา 21.00 น. หลังเวลา 21.00 น. ให้จำหน่ายเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น ห้ามบริโภคสุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคฯ
3.6 สวนสาธารณะ ลาน – พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา ให้เปิดได้เฉพาะพื้นที่โล่งแจ้งเพื่อการเดิน วิ่ง ขี่หรือปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายด้วยวิธีอื่น เป็นส่วนบุคคลโดยต้องไม่มีผู้ชมมาชุมนุมกันจำนวนมาก
มาตรการควบคุมหลัก
1. ให้ทำความสะอาดโดยการเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องเล่นออกกำลังกาย พื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้อง ก่อนและหลังการจัดกิจกรรม และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน
2. ให้เจ้าหน้าที่ ผู้ร่วมกิจกรรม ผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
3. ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
4. ให้เว้นระยะห่างการทำกิจกรรมอย่างน้อย 2 เมตร
5. ควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมมิให้แออัดหรือลดเวลาการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน
6.ให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ และเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันติดตามตัว ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ได้ตามความเหมาะสม หรือใช้มาตรการควบคุม ด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานทดแทนได้
4. มาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ ให้เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการดูแลรักษาความสะอาดของสถานที่ ภาชนะ และอุปกรณ์ที่ใช้ และจัดให้มีมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกำหนด เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดระบบอื่นๆ ให้เป็นไปตามคำแนะนำ เงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีหรือทางราชการกำหนด เช่น การเข้าใช้บริการโดยนัดหรือแจ้งล่วงหน้า การไม่ให้ผู้ใช้บริการหลายคน รออยู่ในสถานที่เดียวกัน การจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละคราว และการเข้าใช้บริการ ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจและให้คำแนะนำ หรือตักเตือนห้ามปรามได้ตลอดเวลา หากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือเป็นอันตราย ต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคให้เสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยว่าด้วยโรคติดต่อสั่งปิดสถานที่เฉพาะรายการ
5. ให้งดการปฏิบัติศาสนกิจและศาสนพิธีของทุกศาสนา ที่มีการรวมกลุ่มจำนวนตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ณ สถานที่ใด ๆ เว้นแต่กรณีจำเป็นให้นายอำเภอพิจารณาอนุญาตเป็นกรณีไป
6. การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทาง ข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่กรณีเหตุจำเป็นซึ่งต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเข้ารับการตรวจคัดกรองและต้องปฏิบัติตามาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
กรณีประชาชนที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นและพำนักพักค้างคืนในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี
ต้องรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในท้องที่ เพื่อรับการตรวจคัดกรองและต้องปฏิบัติ ตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ ผู้ที่เดินทางจากเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ต้องกักตัวตามมาตรการป้องกันโรค (Home Quarantine)
7. ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ยกเว้นการสัญจรเพื่อไปประกอบอาชีพตามปกติ
8. ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณารูปแบบการปฏิบัติงาน ในช่วงระยะเวลานี้ ซึ่งอาจเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หรือการสลับวันหรือการเหลื่อมเวลาเข้าปฏิบัติงาน เพื่อลดจำนวนผู้ปฏิบัติงานและปริมาณการเดินทางซึ่งเป็นมาตรการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
9. มาตรการพื้นที่ควบคุมสูงสุดให้ปฏิบัติ ดังนี้
9.1 เร่งรัดการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคอย่างเต็มขีดความสามารถ
9.2 ค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
9.3 ควบคุมการเข้า-ออก ของยานพาหนะ และบุคคลคนไทย โดยมิให้กระทบต่อการค้าและการอุตสาหกรรมมากเกินความจำเป็น
9.4 งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากทุกรูปแบบ
9.5 ให้มีการ Work From Home อย่างเต็มขีดความสามารถ
เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรค 2 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้โดยไม่มีเหตุอันสมควรจะมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง ประกาศหรือคำสั่งใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้ใช้คำสั่งนี้แทน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข้อมูลไฟล์ที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล!!